วิธีเลือกซื้อปลา
![]() |
ในการทำอาหารนั้น หากเครื่องปรุงและส่วนผสมที่เลือกใช้ เป็นของสดใหม่ ก็จะช่วยเสริมให้รสชาติของอาหารดีขึ้น แต่หากเลือกใช้ของที่ไม่สดมาปรุงละก้อ เหอ...เหอ ไม่อยากพูดถึงเลย โดยเฉพาะอาหารทะเลหากเลือกไม่ดี มีหวัง...
เนื่องจากปลาเป็นอาหารโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง แต่ไขมันต่ำ (เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อย่างอื่น) นอกจากนี้โปรตีนในปลา ยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย และเนื้อปลายังอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 บี 2 บี 6 และวิตามินดี เนื้อปลาจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคหัวใจ วันนี้เราจึงนำวิธีเลือกซื้อปลามาฝาก สำหรับแม่ครัวและพ่อครัวมือใหม่โดยเฉพาะ (ประสบการณ์ไม่เน้น เน้นสดค่ะ)
![]() |
พูดถึงปลา เราจำแนกปลาได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ปลาน้ำจืด และปลาทะเล (ถ้าจะให้ถูกก็ปลาน้ำเค็ม) นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ เค้ายังแบ่งกลุ่มกันให้ละเอียดเข้าไปอีก โดยแยกปลาตามปริมาณไขมัน ที่ปลาแต่ละชนิดมีแตกต่างกันไป (ซึ่งทำให้รสชาติแตกต่างกันไปด้วย) และหากจะแบ่งปลาโดยคุณสมบัตินี้ ก็แบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ
ปลาที่ไม่มีไขมัน หรือมีน้อยมาก (ต่ำกว่า 2% ) เนื้อปลาพวกนี้จะมีสีขาว เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลากราย ปลาสำลี ปลาจาระเม็ด ปลากะพง ฯลฯ
ปลาที่มีไขมันปานกลาง (ตั้งแต่ 2-5% ) เช่น ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาอินทรีย์ ฯลฯ
ปลาที่มีไขมันสูง (มากกว่า 5% ) ปลาพวกนี้ส่วนมากจะมีเนื้อสีเหลือง ชมพู หรือเทาอ่อน เช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาไหลทะเล ฯลฯ
![]() |
สำหรับการเลือกซื้อปลา มีเคล็ดลับ คือ ต้องเลือกปลาที่ตาใส ตาปลาไม่ควรยุบลงเป็นเบ้า (เหมือนคนนอนดึก) และเนื้อปลาต้องแน่น เมื่อกดแล้วยกนิ้วขึ้นเนื้อปลาต้องคงสภาพปกติ ไม่บุ๋มตามรอยนิ้วมือ ที่สำคัญเหงือกปลาต้องมีสีสด
เมื่อเลือกซื้อปลาได้แล้ว ควรทำความสะอาดปลา โดยต้องขอดเกล็ดออกให้หมด เพราะหากทานปลาแล้วโดนเกล็ดปลา จะรู้สึกเสียบรรยากาศมาก และถ้าปลานั้นไม่มีเกล็ด ก็ต้องขูดเมือกออก แล้วดึงเหงือกและควักไส้ออก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้น ซึ่งหากต้องการความสะดวก อาจให้แม่ค้าปลาช่วยจัดการให้ก็ได้ แต่เมื่อมาถึงบ้านแล้วเราก็นำเอาปลาเหล่านั้นมาล้างให้สะอาดอีกครั้ง เสร็จแล้วก็จัดการเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้มิดชิด นำเข้าช่องแช่แข็ง
เคล็ดลับในการเก็บเนื้อปลาก็มีอยู่ว่า ควรแบ่งปลาในแต่ละกล่อง ให้มีปริมาณพอดีกับที่เราต้องการใช้ในแต่ละมื้อ เพราะหากเราใส่เนื้อปลาไว้มากเกินความต้องการในแต่ละครั้ง เวลาเราจะเอาออกมาใช้ก็ต้องทำการละลายน้ำแข็ง (หรือตั้งไว้ให้มันละลาย) แล้วค่อยแกะแบ่งออกมา (หากแช่แข็งเนื้อปลามักเกาะกลุ่มกันเป็นก้อน) และเมื่อนำปลาที่เหลือไปแช่แข็งต่อ ก็จะทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไป และทำให้ระยะเวลาในการเก็บรักษาสั้นลง
![]() |
ส่วนในกรณีที่เราเลือกซื้อปลา ประเภทที่เค้าแช่แข็งมาอยู่แล้ว มาทำอาหารประเภทอบ ปิ้ง ย่างนั้น ก็มีข้อแนะนำว่า ให้อบได้เลยไม่ต้องละลายน้ำแข็ง เพราะน้ำในตัวปลา จะละลายออกมาด้วย ทำให้เสียรสชาติไปเยอะทีเดียว
![]() |
หวังว่าเคล็ดลับที่ไม่ลับที่นำมาฝากกันคราวนี้ จะช่วยเพิ่มข้อมูลในการทำอาหาร ให้พ่อครัวและแม่ครัวมือใหม่ทั้งหลายมากขึ้นนะคะ